ปปช.แจ้งข้อหา ฟัน “จักรทิพย์” จัดซื้อ “รถตรวจการณ์” แก้สัญญาเอื้อเอกชน
เลขาฯ ปปช.ยืนยันมีมติแจ้งข้อกล่าวหากับ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. พร้อมพวกรวม 46 รายแล้วในจำนวนนี้มีตำรวจระดับผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีก 4 คน กรณีจัดซื้อจัดจ้างรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท หลังพบการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมและกำหนดราคากลางแพงเกินจริง เปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน
ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อหาอดีต ผบ.ตร.กับพวกในคดีจัดซื้อรถตรวจการณ์อัจฉริยะ โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค. นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกระแสข่าว ป.ป.ช.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. กับพวกรวม 46 ราย กรณีการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คัน วงเงิน 900 ล้านบาท ระหว่างปี 61-62 ว่า ป.ป.ช. มีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่ พล.ต.อ.จักรทิพย์จริง เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย หลังจากนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามกฎหมาย ภายในเวลา 15 วันหลังได้รับแจ้งข้อกล่าวหาและสามารถยื่นหนังสือเข้ามาขอเลื่อนชี้แจงได้ ทั้งหมดเป็นดุลพินิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะอนุญาตให้เลื่อนเข้าชี้แจงหรือไม่
สำหรับกรณีดังกล่าว ป.ป.ช.เคยมีมติเมื่อเดือน พ.ค.65 ให้ตั้งองค์คณะไต่สวน พล.ต.อ. จักรทิพย์และพวก มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน ดำเนินการตรวจสอบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างกรณีคัดเลือกได้ดำเนินการชอบด้วย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ.2560 หรือไม่ เนื่องจากมีข้อสงสัยว่าการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก มีการแข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรมและกำหนดราคากลางแพงเกินจริง ตลอดจนไม่คิดค่าปรับ รวมทั้งมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญาหรือไม่
สำหรับโครงการรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ (SMART PATROL CAR : SPC) 260 คัน ในการไต่สวนพบข้อสังเกตใน 4 ประเด็น คือ 1.การอนุมัติให้ใช้วิธีจัดซื้อโดยการคัดเลือกชอบด้วย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หรือไม่ 2.การจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือกเป็นเหตุให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมหรือไม่ 3.การกำหนดราคากลางชอบหรือไม่ รวมถึงการจัดซื้อรถยนต์ไฟฟ้าตรวจการณ์อัจฉริยะ 260 คัน มีราคาแพงเกินจริงหรือไม่ และ 4.การไม่คิดค่าปรับและแก้ไขสัญญาเพิ่มเติมเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท จีเนียส ทราฟฟิค ซิสเต็ม (คู่สัญญา) หรือไม่
ทั้งนี้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ในข่ายถูกไต่สวนในคดีนี้เบื้องต้นมี 46 ราย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.กลุ่มผู้บริหารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 5 ราย 2.กลุ่มคณะกรรมการพิจารณาคุณลักษณะเฉพาะพัสดุ 7 ราย 3.กลุ่มคณะกรรมการร่างขอบเขตของงานกำหนดราคากลางรวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอและคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีการคัดเลือก 3 ราย และ 4.กลุ่มบริษัทเอกชน 31 ราย
ขอบคุณข้อมูลจาก ไทยรัฐ